วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

จิตวิทยาการเรียนรู้
ความหมายของการเรียนรู้
นักจิตวิทยาหลายท่านให้ความหมายของการเรียนรู้ไว้ เช่น
            คิมเบิล  (   Kimble ,  1964   )  "การเรียนรู้   เป็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างถาวรในพฤติกรรม  อันเป็นผลมาจากการฝึกที่ได้รับการเสริมแรง"
            ฮิลการ์ด และ เบาเวอร์  (Hilgard & Bower, 1981)  "การเรียนรู้ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  อันเป็นผลมาจากประสบการณ์และการฝึก   ทั้งนี้ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่เกิดจากการตอบสนองตามสัญชาตญาณ  ฤทธิ์ของยา หรือสารเคมี หรือปฏิกริยาสะท้อนตามธรรมชาติของมนุษย์  "
            คอนบาค  (  Cronbach  )  "การเรียนรู้  เป็นการแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลเนื่องมาจากประสบการณ์ที่แต่ละบุคคลประสบมา "
            พจนานุกรมของเวบสเตอร์  (Webster 's  Third  New International Dictionary) "การเรียนรู้ คือ  กระบวนการเพิ่มพูนและปรุงแต่งระบบความรู้  ทักษะ นิสัย หรือการแสดงออกต่างๆ อันมีผลมาจากสิ่งกระตุ้นอินทรีย์โดยผ่านประสบการณ์ การปฏิบัติ หรือการฝึกฝน"

จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้
            พฤติกรรมการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายของนักการศึกษาซึ่งกำหนดโดย บลูม และคณะ  (Bloom and Others ) มุ่งพัฒนาผู้เรียนใน  ๓  ด้าน    ดังนี้
            ๑.  ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)  คือ ผลของการเรียนรู้ที่เป็นความสามารถทางสมอง ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท ความจำ ความเข้าใจ  การนำไปใช้  การวิเคราะห์  การสังเคราะห์และประเมินผล
            ๒.  ด้านเจตพิสัย (Affective Domain )  คือ ผลของการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงด้านความรู้สึก  ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท ความรู้สึก ความสนใจ  ทัศนคติ การประเมินค่าและค่านิยม
            ๓.  ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)  คือ ผลของการเรียนรู้ที่เป็นความสามารถด้านการปฏิบัติ ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท การเคลื่อนไหว  การกระทำ  การปฏิบัติงาน การมีทักษะและความชำนาญ
องค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้
            ดอลลาร์ด และมิลเลอร์  (Dallard and Miller) เสนอว่าการเรียนรู้ มีองค์ประกอบสำคัญ ๔  ประการ คือ
            ๑.  แรงขับ (Drive) เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล    เป็นความพร้อมที่จะเรียนรู้ของบุคคลทั้งสมอง ระบบประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ  แรงขับและความพร้อมเหล่านี้จะก่อให้เกิดปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมที่จะชักนำไปสู่การเรียนรู้ต่อไป
            ๒.  สิ่งเร้า (Stimulus) เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ   ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้บุคคลมีปฏิกิริยา  หรือพฤติกรรมตอบสนองออกมา ในสภาพการเรียนการสอน สิ่งเร้าจะหมายถึงครู  กิจกรรมการสอน  และอุปกรณ์การสอนต่างๆ   ที่ครูนำมาใช้
            ๓.  การตอบสนอง (Response) เป็นปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกมาเมื่อบุคคลได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้า ทั้งส่วนที่สังเกตเห็นได้และส่วนที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้    เช่น การเคลื่อนไหว ท่าทาง  คำพูด การคิด  การรับรู้  ความสนใจ และความรู้สึก  เป็นต้น
            ๔.  การเสริมแรง (Reinforcement) เป็นการให้สิ่งที่มีอิทธิพลต่อบุคคลอันมีผลในการเพิ่มพลังให้เกิดการเชื่อมโยง ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองเพิ่มขึ้น การเสริมแรงมีทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ของบุคคลเป็นอันมาก
การนำความรู้ไปใช้
            ๑.  ก่อนที่จะให้ผู้เรียนเกิดความรู้ใหม่  ต้องแน่ใจว่า ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับความรู้ใหม่มาแล้ว
            ๒.  พยายามสอนหรือบอกให้ผู้เรียนเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของการเรียนที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง
            ๓.  ไม่ลงโทษผู้ที่เรียนเร็วหรือช้ากว่าคนอื่นๆ และไม่มุ่งหวังว่าผู้เรียนทุกคนจะต้องเกิดการเรียนรู้ที่เท่ากันในเวลาเท่ากัน
            ๔.  ถ้าสอนบทเรียนที่คล้ายกัน ต้องแน่ใจว่าผู้เรียนเข้าใจบทเรียนแรกได้ดีแล้วจึงจะสอนบทเรียนต่อไป
            ๕.  พยายามชี้แนะให้ผู้เรียนมองเห็นความสัมพันธ์ของบทเรียนที่มีความสัมพันธ์กัน



 หลักการที่สำคัญสำหรับครู 
          Mamchak and Mamchak  (1981)  ได้กล่าวถึงขั้นตอนในการสร้างบรรยากาศในห้องเรียนที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างครูและนักเรียน
 การสร้างบรรยากาศในห้องเรียน 
-                   ไม่รื้อฟื้นปัญหาที่เคยเกิดขึ้น 
-                   ให้ความยุติธรรมแก่เด็ก อย่างเท่าเทียมกัน
-                   ตั้งเป้าหมายที่นักเรียนสามารถทำได้ 
-                   ครูควรบอกถึงข้อจำกัดของตน 
-                   ครูควรทราบข้อจำกัดของเด็กแต่ละคน 
-                   ครูควรใส่ใจเด็กทุกคน  
ความสำคัญของจิตวิทยาการเรียนการสอน 
-  ทำให้รู้จักลักษณะนิสัยของผู้เรียน
-  ทำให้เข้าใจพัฒนาการบุคลิกภาพบางอย่างของผู้เรียน
-  ทำให้ครูเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล
-  ทำให้ครูทราบว่ามีองค์ประกอบใดบ้างที่มีผลกระทบต่อสัมฤทธิ์ทางการเรียนเช่น แรงจูงใจ ความคาดหวัง เชาวน์ปัญญา ทัศนคติ ฯลฯ
ความสำคัญของจิตวิทยาการเรียนการสอน 
-  ทำให้ครูทราบทฤษฎี หลักการเรียนรู้ รวมทั้งหลักการสอนและวิธีการสอน
-  ทำให้ครูวางแผนการสอนได้อย่างเหมาะสม
-  ทำให้ครูจัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียนได้สอดคล้องกับพัฒนาการ รวมทั้งสร้างบรรยากาศในชั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น